วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปลาส้มพะเยา


            เป็นอาหารพื้นเมืองเหนือโบราณ ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดพะเยาทำมาจากเนื้อปลา นำมาหมักกับเกลือ ข้าว กระเทียม โดยไม่ใส่สารกันบูด สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น ยำ ทอด ย่าง รับประทานได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ จังหวัดพะเยาขึ้นชื่อในเรื่องปลาส้มอร่อย และนิยมนำมาเป็นของฝาก ให้แก่นักท่องเที่ยวที่แวะมาเยือนจังหวัดพะเยา.."ปลาส้ม "เป็นอาหารพื้นบ้านล้านนา คุณทองปอนเจ้าของตำรับการทำปลาส้มเล่าว่า ได้รับการสืบทอดภูมิปัญญาการทำปลาส้มจากบรรพบุรุษปู่ ย่า ตายาย และบิดารมารดา ซึ่งแต่เดิมคุณพ่อคุณแม่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านสันเวียงใหม่ อยู่ติดกับกว๊านพะเยา ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชาวเมืองพะเยา ชาวบ้านนอกจากจะมีอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ยังมีอาชีพประมงพื้นบ้าน หาปู หาปลาดำรงชีพมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อชาวบ้านหาปลามาได้แล้วก็มีวิธีการถนอมอาหารให้เก็บไว้กินได้นาน ๆ จึงเกิดภูมิปัญญาชาวบ้านในการแปรรูปอาหารจากปลาต่าง ๆ เช่น ย่าง หมัก ตากแดด ปลาร้า ปลาเจ่า ฯลฯ รวมทั้งการนำมาทำ "ปลาส้ม " จนเป็นสินค้าที่ลือชื่อของฝากจากจังหวัดพะเยาใน และปัจจุบันได้ย้ายสถานที่ผลิตและที่ทำการกลุ่มมาอยู่ที่หมู่ 10 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา เนื่องจากมีสถานที่กว้างขวาง เหมาะสำหรับการศึกษาดูงาน






เยี่ยมปลาส้มแม่ทองปอน


อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง

     
     อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง อดีตกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองภูกามยาว (พระเยา) ประดิษฐานอยู่ ที่สวนสาธารณะ เทศบาลหน้ากว๊านพะเยา เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ พ่อขุนงำเมือง เป็นพระสหาย ร่วมน้ำสาบาน กับพ่อขุนเม็งรายอดีต กษัตริย์เมืองเชียงราย และพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งทั้งสามกษัตริย์ ได้ทรงกระทำสัตย์ต่อกัน ณ บริเวณแม่น้ำอิง ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณกว๊านพะเยาครับ





กว๊านพะเยา



กว๊านพะเยา อยู่ในเขตอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ และ อันดับ 3 ของประเทศไทย (รองจาก หนองหาน และ บึงบอระเพ็ด[1] คำว่า "กว๊าน" ตามภาษาพื้นเมืองหมายถึง "บึง" เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากหลัง เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากห้วยต่างๆ 18 สาย มีปริมาณน้ำเฉลี่ยปีละ 29.40 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพันธ์ปลาน้ำจืดกว่า 48 ชนิด มีเนื้อที่ 12,831 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาต่างๆ ทัศนียภาพโดยรอบกว๊านพะเยา มีส่วน ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ที่สวยงามประทับใจผู้พบเห็น จนอาจจะกล่าวได้ว่าหัวใจของเมืองพะเยาอยู่ที่กว๊านพะเยานี่เอง
ริมกว๊านพะเยาเป็นร้านอาหารและสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ กว๊านพะเยาในอดีตแต่เดิมเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมีสายน้ำอิงไหลพาดผ่านคดเคี้ยวทอดเป็นแนวยาวไปตลอด จากทิศเหนือจรดขอบกว๊านฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประกอบกับมีหนองน้ำน้อยใหญ่หลายแห่งและร่องน้ำหลายสายที่ไหลลงมาจากขุนเขาดอยหลวงแล้วเชื่อมติดต่อถึงกัน ทำให้พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแห่งนี้จึงมีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งนักและมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เป็นชุมชนนานนับตั้งแต่โบราณ








ล่องเรือชมกว๊าน


ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ งานประเพณีไทลื้อ

      
      ศุนย์วัฒนธรรมไทลื้อ พะเยาเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชุมชนไทลื้อตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่นใน อ.เชียงคำ และที่ ต.ฝายกวาง ต.น้ำแวน ต.เชียงบาน ต.ภูซาง ต.เวียงชุมไทลื้อในอ.เชียงคำเป็นชุมชนที่ขยายออกมาจากชุมชนไทลื้อที่อ.เชียงม่วน แถบวัดท่าฟ้าใต้ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของไทยลื้อพะเยา ส่วนที่วัดหย่วน อ.เชียงคำได้จัดตั้งเป็นศูนย์แสดงผลงานทางศิลปะวัฒนธรรม และฝึกอาชีพของชาวไทลื้อ







วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ เมืองพะเยา


"วัดศรีโคมคำ" ตั้งอยู่เลขที่ 692 ถ.พหล โยธิน ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา ริมกว๊านพะเยา กว๊านพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นที่ 1 ในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งน้ำที่มีธรรมชาติงดงาม อยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากบังข้างหลังสูงตระหง่านอย่างงดงามตา คำว่า "กว๊าน"ตามภาษาพื้นเมืองหมายถึง "บึง" มีเนื้อที่ 12,831 ไร่ มีความลึกเฉลี่ย 1.5 เมตร ลึกที่สุด 4 เมตร เป็นแหล่งประมงน้ำจืด และเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ กว่า 50 ชนิด เช่นปลากราย ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาจีน ปลานิลปลาไน ฯลฯ
ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด พะเยาสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อพันธุ์ในบ่อเลี้ยงเป็นผลสำเร็จ เป็นแห่งแรกของโลกในปี พ.ศ.2544 สามารถเพาะพันธุ์ลูกปลาบึกได้เป็นแสนตัว ส่วนหนึ่งได้ปล่อยลงสู่กว๊านพะเยา ทัศนียภาพโดยรอบ กว๊านพะเยาเหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ในยามเย็นชมพระอาทิตย์ตกริมกว๊าน เป็นภาพที่สวยงามมาก ซึ่งเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นและมาเยือนจนอาจกล่าวได้ว่าหัวใจของเมือง พะเยาอยู่ที่ กว๊านพะเยา

"วัดศรีโคมคำ"
 เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองพะเยา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีและวัดพัฒนาตัวอย่าง ชาวเมืองพะเยาทั่วไปนิยมเรียกว่า "วัดพระเจ้าตนหลวง" ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน "พระเจ้าตนหลวง" สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2034-2067
พระเจ้าตนหลวง เป็นองค์พระประธานเก่าแก่ ศิลปะเชียงแสนที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา ขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 16 เมตร สร้างจากอิฐมอญผสมกับปูนขาว ชาวพะเยาถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เดือนหกทุกปีจะมีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวง
ตามตำนาน พระเจ้าตนหลวงสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2034 โดยอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และพระยาเมืองตู้ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยาในสมัยนั้น
เจ้าอาวาสรูปแรกที่ปรากฏในตำนาน คือ พระธรรมปาล ได้เขียนตำนานพระเจ้าตนหลวงออกเผยแพร่
มี สมุดข่อยบันทึกว่า วัดศรีโคมคำ เป็นวัดมาแต่โบราณกาล แต่ยุคหลัง บ้านเมืองตกอยู่ในสงคราม ต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ตามหัวเมืองที่ปลอดภัยจากข้าศึก ทำให้บ้านเมือง วัดวาอารามรกร้างว่างเปล่าไป ต่อมาภายหลังได้สถาปนาเมืองพะเยาขึ้น บ้านเมืองก็ดี วัดวาอารามก็ดี ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามลำดับ
พ. ศ.2465 พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมืองคือ พระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา ร่วมกันไปอาราธนาท่านครูบาศรีวิชัยจากจังหวัดลำพูน มาเป็นประธานสร้างพระวิหารหลวงและเสนาสนะต่างๆ สำเร็จบริบูรณ์ กระทั่งวันที่ 17 เมษายน 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง
นอกจาก นี้ ยังมีพระอุโบสถกลางน้ำ เป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นโดยศรัทธาประชาชน มี "นิยม สิทธหาญ" มัณฑนากรจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ "จินดา สหสมร" สถาปนิกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันออกแบบ
และมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดย "อังคาร กัลยาณพงศ์" และ "ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ"
ชะตา พระเจ้าตนหลวงตามตำนาน กล่าวได้ว่า "พระโมลีใหญ่ 20 กำมือ สูง 3 ศอก พระเศียรกลม 6 วา พระเกศามี 1,500 เส้น ขนาดใหญ่ 4 กำมือ ขนาดกลาง 3 กำมือ ขนาดเล็ก 2 กำมือ ขนาดจิ๋ว 1 กำมือ พระพักตร์หน้ายาว 2 วา กว้าง 2 วา พระขนง (คิ้ว) 3 ศอก ระหว่างพระขนงกว้าง 1 ศอก ยาว 3 ศอก กว้าง 1 คืบ ดั้งพระนาสิก 3 ศอก 1 คืบ ใหญ่ 6 กำมือ
พระโอษฐ์ (ปาก) ยาว 4 ศอก กว้าง 1 คืบ ใหญ่ 6 กำมือ พระกรรณ (หู) ยาว 6 ศอก กว้างศอกคืบ พระศอ ยาว 2 ศอก กลม 3 วา พระอังสา(บ่า) ยาว 3 คืบ กระดูกด้ามมีดยาว 4 วา ตั้งแต่พระอุระ(อก)ถึงพระชานุ(คาง) 2 วา ตั้งแต่พระถัน(นม)ถึงพระอังสา(ไหล่) 2 วา ตั้งแต่พระนาภี(สะดือ)ถึงพระอุระ(อก) 2 วา ระหว่างพระอุระ(อก)กว้าง 2 วา
พระพาหา (แขน) ยาว 4 วา กลม 29 กำมือ นิ้วพระหัตถ์ใหญ่ 9 กำมือ ยาว 1 วา พระกฏิ(สะเอว)กลม 7 วา ฝ่าพระบาท ยาว 2 วา กว้าง 3 ศอก ระหว่างพระชานุกว้าง 7 วา พระหทัยใหญ่ 6 กำมือ ตั้งแต่ที่ประทับนั่งถึงพระโมลี สูง 8 วา 2 ศอก"
พระเจ้าตนหลวง หรือ พระเจ้าองค์หลวง มิใช่เป็นแต่เพียงพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรล้านนาไทยด้วย
ในช่วง เดือนหก ประมาณพฤษภาคม ตรงกับวันวิสาขบูชา จะมีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวง หรือเทศกาล "แปดเป็ง" จะมีประชาชนในจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากการก่อสร้างพระเจ้าตนหลวง เมื่อครั้งสมัยที่ยุคทองทางพระพุทธศาสนาของล้านนา ประชาชนจึงเชื่อว่าพระเจ้าตนหลวง คือ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า ใครที่ได้มากราบสักการะแล้ว จะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคล อยู่ดีมีสุขตลอดไป





วัดศรีโคมคำ